การถ่ายภาพไม่ใช่วิธีเดียวในการบันทึกความทรงจำและสิ่งต่างๆแต่มันแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การถ่ายภาพนั้นอยู่รอบๆตัวเรา อาทิเช่น สถานีข่าว บทความในนิตยสาร หรือปกหนังสือ  ด้วยเหตุผลนี้การเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายถือว่ามีอิทธิพลและมีพลังอย่างแท้จริง หากคุณต้องการใช้พลังนั้นและเรียนรู้วิธีการถ่ายภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ยินดีต้อนรับสู่ “พื้นฐานการถ่ายภาพ: คู่มือสำหรับผู้เริ่มต้น” เนื้อหาเหล่านี้จะอธิบายหลักการพื้นฐานที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพตั้งแต่เริ่มจนจบถึงเสร็จ เราหวังว่าบทความเกี่ยวกับการถ่ายรูปและวิดีโอต่อจากนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆคนที่สนใจในสิ่งเหล่านี้

 

ค่าที่สำคัญในการถ่ายรูปมี 3 ค่าหลักๆที่ควรรู้จักกันดังนี้ ; ISO, รูรับแสง (aperture) และความเร็วในการเปิดซัตเตอร์ (shutter speed) 

การถ่ายภาพด้วยโหมด M นั้นดูเหมือนจะค่อนข้างยากไปสำหรับคนที่พึ่งเข้ามาถ่ายรูป แต่ถ้าคุณได้รู้จักและทำความเข้าใจกับการทำงานของทั้ง 3 ค่านี้ เราเชื่อว่าคุณจะสามารถสร้างงานภาพและสไตล์ตามที่คุณต้องการได้ตรงจุดประสงค์มากยิ่งขึ้น

ISO: ISO ควบคุมความไวของกล้องต่อแสง การตั้งค่า ISO ต่ำหมายถึงกล้องจะมีความไวต่อแสงน้อยลง ในขณะที่ ISO สูงแสดงว่ากล้องจะมีความไวต่อแสงมากขึ้น การตั้งค่า ISO ที่ประมาณ 100 ถึง 200 มักเหมาะสำหรับการถ่ายภาพกลางแจ้ง แต่เมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย เช่น ภายในห้องหรือกลางคืน อาจจะต้องใช้ ISO สูงขึ้น เช่น 400 ถึง 800 หรือสูงกว่านั้นอาจจะจำเป็น แต่ ISO ที่ยิ่งสูงก็แลกมาด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า Noise 

การที่มี Noise ในรูปจะทำให้ความละเอียดและความคมชัดของรูปภาพลดลงจะยิ่งเห็นได้ชัดจาก ISO ที่สูงมากจนเกินที่ Sensor ของกล้องจะรับไหว 

รูรับแสง (aperture): รูรับแสงเป็นรูปร่างที่อยู่ในเลนส์และควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เซ็นเซอร์ของกล้อง รูรับแสงที่กว้างขึ้น (มีค่า f-number ต่ำ) จะปล่อยให้แสงผ่านมากขึ้น ในขณะที่รูรับแสงที่แคบลง (มีค่า f-number สูง) จะปล่อยให้แสงผ่านน้อยลง รูรับแสงที่กว้างและแคบมีผลต่อสิ่งที่เรียกว่า DOF (Depth Of Field) พูดง่ายๆก็คือการหน้าชัดหลังเบลอนั่นเอง ยิ่งเลขของรูรับแสงน้อยก็จะยิ่งทำให้ถ่ายบุคคลหรือสิ่งของมีความละลายหลังได้มากขึ้น แต่บางทีถ้าเราต้องการให้ภาพออกมาคมชัดทั้งภาพการใช้ค่ารูรับแสงที่มากขึ้นก็จะมาช่วยตอบโจทย์ผลงานของเรามากยิ่งขึ้น ส่วนมากการชัดทั้งภาพจะมาคู่กับการถ่ายรูปแนว Landscape 

ความเร็วในการเปิดซัตเตอร์ (shutter speed): ความเร็วในการเปิดซัตเตอร์ควบคุมเวลาที่ซัตเตอร์เปิดในขณะที่คุณถ่ายรูป ยิ่งเวลาที่ซัตเตอร์เปิดนานเท่าไหร่แสงก็จะเข้ามายังเซ็นเซอร์ของกล้องได้มากขึ้น ความเร็วในการเปิดซัตเตอร์ที่เร็วเหมาะสำหรับการหยุดแอคชั่นต่างๆที่มีการขยับที่ไวเช่นการ เล่นกีฬาต่างๆ แต่ชัตเตอร์ที่ช้าจะสามารถสื่อสารการกระทำต่างๆได้โดยจะมีการติดสิ่งที่เรียกว่า โมชั่นเบลอ เราสามารถดูเทียบว่าชัตเตอร์ช้าและเร็วมีผลต่อภาพอย่างไรได้ตามภาพด้านล่างนี้





สามค่าข้างต้นจากด้านบนนี้เองคือส่วนสำคัญในการที่จะได้รูปภาพออกมา แต่นอกจากการตั้งค่าให้เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว อีกอย่างที่สำคัญในการถ่ายรูปก็คือ การวัดแสง

 

การวัดแสงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไกลตัว บางคนคิดว่าการถ่ายหลังกล้องเรามาดึงให้มืดหรือสว่างขึ้นได้จากโปรแกรมทีหลัง แต่จริงๆแล้วการวัดแสงเป็นหนึ่งในหัวข้อทางเทคนิคที่สำคัญที่สุดที่คุณควรรู้หากคุณต้องการถ่ายภาพคุณภาพสูง

สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำคือออกไปทดลองตามการแนะนำจากด้านบนด้วยตัวคุณเอง ลองปรับเปลี่ยนการตั้งค่าวัดแสงและ ISO มาเล่นดู สังเกตดูว่าค่าเหล่านี้มีผลต่อภาพถ่ายอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกฝน เรื่องการวัดแสงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ควรค่าแก่การต่อยอดคุณหากคุณสนใจในการถ่ายภาพที่ จริงจังมากยิ่งขึ้น 

 

สิ่งต่อมาที่มีความสำคัญในการถ่ายรูปก็คือการวาง Composition หรือการจัดวางองค์ประกอบของรูปภาพนั่นเอง

 

การจัดวางองค์ประกอบของรูปภาพนั้นเป็นเรื่องยากที่จะสอนกัน

ช่างภาพบางคนสอนการจัดองค์ประกอบของรูปภาพจากการใช้กฎ”เรียนรู้จากบนลง” บอกกับช่างถ่ายว่า “ปฏิบัติตามกฎนี้,” “อย่าทำแบบนั้น,” และ “ทำเสมอแบบนี้” แต่ปัญหาที่เกิดจากการที่ตามกฎเหล่านี้ก็มักจะทำให้มุมมองในการมองภาพของแต่ละคนถูกลบล้างด้วยกฎเกณฑ์และเป็นแนวทางการถ่ายรูปที่ซ้ำกันไปหมด

อย่างไรก็ตาม, วิธีการเรียนรู้จากการ “ทำตามความรู้สึกของคุณ” และ “มันเป็นเรื่องของคุณเอง” บางทีก็จะได้เห็นมุมมองใหม่ๆสร้างความหลากหลายให้วงการถ่ายรูปได้มากยิ่งขึ้น 

ในทางเดียวกันกับคำแนะนำก่อนหน้านี้ เราควรจะจำไว้ว่าการถ่ายภาพไม่ใช่กีฬาที่ต้องดูเป็นผู้ชมเท่านั้น บางครั้งคุณอาจต้องทำตัวให้เข้ากับสภาพที่อยู่ข้างหน้าคุณเพื่อหาคอมโพสชันที่ดีที่สุด คุณจะต้องเคลื่อนไปเรื่อยๆ เดินหรือวิ่งเพื่อเปลี่ยนที่ ลองมุมต่างๆ เพื่อพบเจอกับมุมมองที่แปลกใหม่ และขอให้พวกคุณสนุกไปกับการถ่ายรูป 

 

การถ่ายวิดีโอนอกเหนือจากความคมชัด (Resolution) แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือขอบเขตของสีที่กล้องสามารถบันทึกได้ กล้องรุ่นใหม่ๆการถ่ายวิดีโอก็เริ่มจะพัฒนาจาก 8 Bit เป็น 10 Bit หลายคนอาจคิดว่า 10 Bit กับ 8 Bit คงไม่ต่างกันมากเท่าไหร่ แต่จริงๆแล้วในโลกของ Video ผลลัพธ์ที่ได้ มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการคำนวน Bit จากภาพ เราจะเห็นว่า 1 Bit จะมีสองสี ในที่นี้ขอใช้ขาวกับดำ พอขยับมาเป็น 2 Bit จาก 2 Shade จะกลายเป็น 4 Shade มันคือ Binary Code ที่เมื่อยกกำลัง 2 ไปเรื่อยๆ จนมาถึง 8 Bit ก็จะเท่ากับ 256 Shade สี และ 10 Bit ก็จะเท่ากับ 1024 Shade สี

สรุปได้ว่า โดยรวมแล้ว 8 bit เท่ากับ 16.77 ล้านสี ส่วน 10 bit จะเท่ากับ 1.07 พันล้านสี !!

ถ้าถ่ายด้วย Log File แล้วเอามาทำสี เราจะเห็นได้ทันทีว่า 8 Bit มีพื้นที่ในการปรับสีน้อย เพราะฉะนั้นอาจจะเกิด Color Banding หรือง่ายๆ คือสีเป็นชั้น เหมือนในภาพตัวอย่างได้ ส่วนการดึงสีใน 10 Bit มันจะเปิดกว้าง ให้คุณ ได้สร้างสรรค์ Mood and Tone ใหม่ๆ เพราะสามารถปรับให้สีวิดีโอของคุณ ออกมาสวยงามมากกว่าที่คุณคิด